ปิดฉาก windows 7 เดือนมกราคมนี้ อัพเดทไม่ได้อีกแล้ว
วันนี้ 14 มกราคม 2020 ถือเป็นวันสุดท้ายของระบบปฏิบัติการ Windows 7
ไมโครซอฟท์จะออกแพตช์สุดท้ายของ Windows 7 หลังจากนั้นแล้ว Windows 7 ยังใช้งานได้ตามปกติ แต่จะไม่มีแพตช์ความปลอดภัยให้อีกแล้ว นั่นแปลว่าหากเกิดมัลแวร์ใหม่ๆผู้ใช้ Windows 7 จะมีความเสี่ยงที่จะโดนไวรัสนั้นๆเล่นงานทันที
Windows 7 ถือเป็นระบบปฏิบัติการที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง แต่ปัจจุบันมีอายุเกิน 10 ปีแล้ว (ออกเดือนตุลาคม 2009) และมีอายุขัยของมันที่ต้องสิ้นสุดลง เพื่อให้ windows เวอร์ชั่นใหม่ๆ ได้ใช้และอัพเดทการทำงานได้อย่างเต็มที่
สิ่งที่คุณทำได้ของผู้ใช้ Windows 7 ที่สามารถทำได้
- หากอยู่ในภาวะที่ทำได้ (เช่น ไม่มีปัญหาไดรเวอร์หรือซอฟต์แวร์เฉพาะบางตัว) ควรอัพเกรดเป็นระบบปฏิบัติการที่ใหม่กว่าอย่าง Windows 10 หรือย้ายไปใช้ระบบปฏิบัติการอื่นอย่าง Linux
- หากไม่สามารถอัพเกรดเป็น Windows 10 ได้ อาจพิจารณาซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ที่เป็น Windows 10 แทน ซึ่งทันสมัยกว่าคอมพิวเตอร์ยุค Windows 7 มีฟีเจอร์ฮาร์ดแวร์ใหม่ๆ อย่าง SSD หรือกล้อง IR และปัจจุบันก็มีราคาไม่แพงมากแล้ว
- ถ้าไม่เหลือทางออกแล้วจริงๆ ควรใช้ Windows 7 ต่อไปอย่างระมัดระวัง เช่น ลงแพตช์ให้ครบจนถึงตัวสุดท้ายวันนี้, เปิดการทำงานของ UAC, ใช้บัญชีที่ไม่ใช่แอดมินเป็นบัญชีหลัก, ลงแอนตี้ไวรัสที่ยังซัพพอร์ต, เลือกเข้าเฉพาะเว็บที่เชื่อถือได้ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้การันตีว่า Windows 7 ยังปลอดภัย 100%
พีซีองค์กรคือกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากที่สุด
ผู้ใช้งาน Windows 7 บนพีซีส่วนตัว คงสามารถตัดสินใจได้เองว่าจะอัพเกรดระบบปฏิบัติการ, ซื้อเครื่องใหม่ หรือทนใช้งานต่อไป และแบกรับความเสี่ยงกันเอาเอง
แต่ผู้ใช้ Windows 7 บนพีซีขององค์กร มีชะตาชีวิตที่ขึ้นกับนโยบายของแต่ละองค์กรว่าจะอัพเกรดหรือซื้อเครื่องใหม่ให้หรือไม่ ซึ่งในมุมของผู้กำหนดนโยบายด้านไอทีองค์กร (ไม่ว่าจะเป็น CIO หรือ IT Manager) ต้องประเมินความเสี่ยงกันเอาเองว่า หากไม่อัพเกรด Windows 7 แล้วจะเจอภัยคุกคามระดับไหน โดยเฉพาะในยุคที่การโจมตีเถื่อนขึ้นทุกวัน และข้อมูลความลับภายในองค์กรเป็นสิ่งที่ล้ำค่ายิ่งกว่าฮาร์ดแวร์
องค์กรที่ใส่ใจเรื่องนี้คงดำเนินการย้ายจาก Windows 7 เป็น Windows 10 กันไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนองค์กรที่ยังไม่ตัดสินใจหรือยังติดขัดเรื่องใดอยู่ ก็ได้ขออวยพรให้โชคดี
ที่มา blogone
คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับบทความนี้ โปรดแสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น